หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย สาระกฎหมายน่ารู้

เบี้ยปรับ ความหมาย และลักษณะของเบี้ยปรับ

ผลของเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน

        มาตรา 380 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
        ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานะเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้"
        มาตรา 381 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้
        ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรค 2"

        เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับจากลูกหนี้ได้ตามสัญญากำหนดเบี้ยปรับ การไม่ชำระหนี้นั้นจะต้องเป็นความผิดของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับได้ ถ้าการไม่ชำระหนี้เป็นเพราะพฤติการณ์ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้และเรียกเอาเบี้ยปรับได้เพียงใดหรือไม่ อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้.-

สิทธิของเจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ (มาตรา 380)
        เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เพราะความผิดของลูกหนี้อันหมายความว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เสียเลย เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ แต่เมื่อเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นแล้ว ก็ขาดสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกต่อไป แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกเอาเบี้ยปรับ ก็มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามมาตรา 213 ดังนั้น จึงเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเลือกว่า จะเรียกเอาเบี้ยปรับหรือจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง สิทธิที่เลือกนี้เป็นการเลือกระหว่างเบี้ยปรับกับการชำระหนี้ มิใช่การเลือกชำระหนี้ ซึ่งมีอยู่หลายอย่างอันเป็นสิทธิของลูกหนี้ตามมาตรา 198
        1. เมื่อเจ้าหนี้เลือกในทางเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยเจาะจงตามมาตรา 213 ย่อมหมดไป (มาตรา 380 วรรคหนึ่ง) แต่การเรียกเอาเบี้ยปรับนั้น ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาค่าเสียหายตามมาตรา 222 ซึ่งเป็นการเรียกค่าเสียหายตามความจริง ดังนั้น เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ ก็มีสิทธิพิสูจน์เอาได้โดยเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย (มาตรา 380 วรรคสอง)
        2. เมื่อเจ้าหนี้เลือกในทางเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 213 สิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับย่อมหมดไปแต่ตามมาตรา 213 วรรคสี่ เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ด้วย ดังนั้น จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ตาม มาตรา 380 วรรคสองได้

สิทธิของเจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร (มาตรา 381)
        1. เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้และเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นได้อีกด้วย (มาตรา 381 วรรคหนึ่ง)
        2. ถ้าเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ ย่อมถือได้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร (มาตรา 381 วรรคสอง) ให้บังคับตามบทบัญญัติมาตรา 380 วรรคสอง คือ เจ้าหนี้มีสิทธิพิสูจน์ค่าเสียหายได้โดยเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงริบนั้น ในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย
        3. ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ โดยยังไม่รับเบี้ยปรับเจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ก็ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิต่อลูกหนี้ไว้ในเวลารับชำระหนี้ (มาตรา 381 วรรคสาม)
        4. ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับเบี้ยปรับโดยมิได้รับชำระหนี้ แม้เจ้าหนี้มิได้บอกสงวนสิทธิไว้ ก็มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามสัญญา เพราะมาตรา 381 มิได้บัญญัติไว้ว่าให้เจ้าหนี้ต้องสงวนสิทธิแต่อย่างใด
        5. ถ้าเจ้าหนี้ประสงค์จะเรียกเอาเบี้ยปรับเพียงอย่างเดียว โดยไม่ประสงค์จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ลูกหนี้จะบังคับให้เจ้าหนี้ต้องรับชำระหนี้ด้วยได้หรือไม่ย่อมแล้วแต่เจ้าหนี้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา หรือมีสิทธิบอกปัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีสิทธิ ลูกหนี้ย่อมจะบังคับให้เจ้าหนี้ต้องรับชำระหนี้ได้

ผลของเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นการชำระหนี้อย่างอื่น
        มาตรา 382 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับ ไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 379 ถึง 381 มาใช้บังคับ แต่ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป"

        เบี้ยปรับอาจกำหนดเป็นเงินตามมาตรา 389 หรือกำหนดเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตามมาตรา 382 การชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งกำหนดเป็นเบี้ยปรับย่อมได้แก่การกระทำ งดเว้นการกระทำอันใดอันหนึ่ง หรือส่งมอบทรัพย์อย่างอื่นนอกจากเงิน ในกรณีเช่นนี้ มาตรา 382 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 379 ถึง 381 มาใช้บังคับ นั่นคือสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาในเรื่องการริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ ย่อมจะเป็นเช่นเดียวกับเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นเงิน แต่มาตรา 382 บัญญัติยกเว้นไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับตามมาตรา 380 วรรคสอง ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้.-

สิทธิของเจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
        1. เมื่อเจ้าหนี้เลือกในทางเรียกเบี้ยปรับ สิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยเจาะจงตามมาตรา 213 ย่อมหมดไป (มาตรา 380 วรรคหนึ่ง) และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับ (มาตรา 382)
        2. เมื่อเจ้าหนี้เลือกในทางเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ อันเป็นการใช้สิทธิตามามาตรา 213 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับคงมีแต่จะสิทธิเรียกค่าเสียหายตามาตรา 213 วรรคสี่, 215 แต่จะถือเอาเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายไม่ได้ เพราะวัตถุแห่งหนี้ต่างกัน

สิทธิของเจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร
        เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เจ้าหนี้มีสิทธิทั้งเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้และเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นได้ด้วย (มาตรา 381 วรรคหนึ่ง) แต่เจ้าหนี้ไม่สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน โดยพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับ (มาตรา 382) ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ก็ต่อเมื่อบอกสงวนสิทธิไว้ในเวลารับชำระหนี้ (มาตรา 381 วรรคสาม) แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เรียกเอาเบี้ยปรับ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 213, 215 ได้


เบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
        มาตรา 383 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป
        นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำ หรืองดเว้นการกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย"

        เบี้ยปรับนั้นเป็นค่าเสียหายซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าอาจน้อยกว่าหรือสูงกว่าค่าเสียหายที่แท้จริงก็ได้ แต่ถ้าเบี้ยปรับนั้นกำหนดไว้สูงเกินกว่าค่าเสียหายที่แท้จริงอย่างมากมาย อันเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วนหรือเกินสมควรหากยอมรับบังคับให้ตามความตกลง ก็อาจจะไม่เป็นธรรมและจะเป็นช่องทางให้บุคคลอาศัยสัญญา เป็นเครื่องมือหากำไรเกินควรกฎหมายจึงบัญญัติทางแก้ไขไว้ตามมาตรา 383 โดยให้อำนาจศาลที่จะลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนนั้นลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์พอสรุปได้ดังนี้.-
        1. การลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนที่พอสมควรนั้น จะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ซึ่งหมายความว่าในการพิจารณาว่าสมควรจะลดเบี้ยปรับเพียงใดหรือไม่ ศาลจะต้องมี่พิจารณาเฉพาะแต่ความเสียหายเป็นเงินเป็นทองเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาถึงส่วนได้เสียของเจ้าหนี้ในทางอื่นอนอกจากจำนวนเงิน เช่น ในทางจิตใจหรือทางชื่อเสียงอีกด้วย
        2. อำนาจศาลในการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินลงเป็นจำนวนที่พอสมควรตามมาตรา 383 เป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ถ้าคู่สัญญาทำสัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า ห้ามมิให้ศาลลดเบี้ยปรับแม้จะสูงเกินส่วน ข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150, 151
        3. คู่สัญญาอาจทำสัญญากันไว้ล่วงหน้าว่า เบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นห้ามมิให้เจ้าหนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นอีกอันเป็นการจำกัดความรับผิดของลูกหนี้ แต่ศาลก็มีอำนาจพิจารณาได้เช่นเดียวกันว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ ถ้าไม่สูงเกินส่วนก็ไม่ลดให้ ถ้าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามมาตรา 383
        4. เบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นแม้จะสูงเกินส่วน ถ้าลูกหนี้ได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็หมดไป ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เพราะการที่ลูกหนี้ยอมใช้เงินไปตามเบี้ยปรับเท่ากับรับอยู่ในตัวแล้วว่าเบี้ยปรับไม่สูงเกินไป แต่ในกรณีต่อไปนี้ ไม่ถือว่าลูกหนี้ยอมใช้เงินตามเบี้ยปรับ คือ
            4.1 เบี้ยปรับที่ลูกหนี้ส่งมอบให้ไว้ล่วงหน้าตามสัญญากำหนดเบี้ยปรับ ขณะที่มีการส่งมอบ เจ้าหนี้ยังไม่มีสิทธิริบจึงถือไม่ได้ว่า ลูกหนี้ยอมใช้เงินตามเบี้ยปรับนั้นแล้ว
            4.2 การวางเงินค่าปรับหรือเบี้ยปรับต่อศาลตามคำสั่งหรือคำพิพากษา เพื่อทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาไม่ถือว่าลูกหนี้ยอมใช้เงินตามเบี้ยบปรับแล้ว

 อ้างอิง : คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย นิติกรรม และสัญญา , อ.ศักดิ์ สนองชาติ , สำนักพิมพ์นิติบรรณการ , 2536

 

หมายเหตุ: ข้อมูลหรือบทความที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น