- หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย
- Links ศาล
หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย ฎีกาวิเคราะห์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4476/2544 แพ่ง ครอบครองปรปักษ์ (มาตรา 1382) วิแพ่ง คำให้การไม่ชัดแจ้ง ฟ้องแย้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4476/2544
นางสาวหนูแดง สุวรรณหงษ์ หรือศรีเพียงจันทร์ โจทก์
นางวาสนา ทรงสังข์ กับพวก จำเลย
แพ่ง ครอบครองปรปักษ์ (มาตรา 1382)
วิธีพิจารณาความแพ่ง คำให้การไม่ชัดแจ้ง ฟ้องแย้ง (มาตรา 177 วรรคสอง, วรรคสาม)
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โจทก์ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดิน จำเลยคัดค้านทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยคัดค้านการรังวัดสอบเขตและห้ามเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยโดยซื้อมาจาก น. จากนั้นได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เท่ากับจำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยได้รับกรรมสิทธิ์มาจากเจ้าของเดิม แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม หากฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนานกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงขัดแย้งกับคำให้การ และฟ้องแย้งตอนแรกซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเพราะซื้อมารูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นในที่ดินโฉนดเลขที่ 5847 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 78 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และค่าเสียหายต่อไปอีกปีละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การกับฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ซื้อมา จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา หากฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนานกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5847 แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดิน กับห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันจนถึงปัจจุบันโดยสงบเปิดเผย หรือมีเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 5847 ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการคัดค้านการรังวัดที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป คำขออื่นให้ยก สำหรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5847 มีชื่อโจทก์กับพวกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดิน มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 5833 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ...พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 5847 โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คำให้การและฟ้องแย้งมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โจทก์ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดิน จำเลยทั้งสองคัดค้าน ทำให้โจทก์เสียหายขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองคัดค้านการรังวัดสอบเขตและห้ามเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยซื้อมาจาก นางนัฎฐา วัตตะเสรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2527 จากนั้นได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของเดิม แต่จำเลยทั้งสองกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตามหากฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนานกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงขัดแย้งกับคำให้การและฟ้องแย้งตอนแรก ซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เพราะซื้อมา รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เพราะการครองครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน
( ประพันธ์ ทรัพย์แสง - พันธาวุธ ปาณิกบุตร - ดลจรัส รัตนโศภิต )
จุมพล ภิญโญสินวัฒน์ - ย่อ
ศิริชัย วัฒนโยธิน - ตรวจ
หมายเหตุ
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น จากบทบัญญัติดังกล่าวบังคับว่าจำเลยจะต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสินหรือบางส่วน นอกจากปฏิเสธแล้วยังต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธด้วยว่าเพราะเหตุใด มิฉะนั้นจะทำให้เป็นคำให้การไม่ชอบ ซึ่งตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงคำให้การที่ไม่ชอบไว้ด้วยกฎหมายดังนี้
1. ไม่ให้เหตุผลในการปฏิเสธ
1.1 ให้การว่า ไม่ทราบ ไม่รับรอง เช่นนี้ ถือว่าไม่ปฏิเสธ ต้องฟังข้อเท็จจริงตามฟ้อง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5631/2534, 6899/2539 เป็นต้น
1.2 ให้การปฏิเสธลอย ๆ โดยไม่ให้เหตุผล ถือว่าไม่เป็นประเด็น เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 9340/2538
2. ไม่ให้การปฏิเสธฟ้องในข้อใดถือว่ารับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องข้อนั้น เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9340/2538
3. ให้การขัดแย้งกันเองโดยยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด
3.1 ไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ แต่คดียังมีประเด็นข้อพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2540 จำเลยให้การตอนแรกว่าไม่เคยรู้จักหรือไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่เคยกู้เงินและไม่เคยรับเงินจากโจทก์ แต่ในตอนต่อมาจำเลยกลับให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากภริยาจำเลยเคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และภริยาจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์และภริยาจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์และภริยาจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ได้กรอกข้อความและให้โจทก์ยึดถือไว้ในการที่ภริยาจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ แล้วโจทก์กรอกข้อความในสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน คำให้การดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ และหนังสือสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม แต่เหตุแห่งการปฏิเสธขัดแย้งกันไม่ชัดแจ้งว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม เพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้จำเลยไม่มีประเด็นนำสืบตามคำให้การ แต่คดียังมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความตามฟ้อง จึงจะชนะคดีได้
3.2 ให้การขัดกันถือว่ารับข้อเท็จจริงตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2631/2536 จำเลยให้การตอนแรกว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จริง แต่ทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการที่โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนนำเงินไปให้ผู้อื่นกู้ จำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เงิน เป็นการปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินจา
โจทก์ แต่จำเลยให้การตอนหลังว่าหากฟังว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์จริง จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการรับว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์จริง คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันจำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ จึงถือว่าจำเลยได้ยอมรับตามข้ออ้างของโจทก์ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ต้องนำสืบตามข้ออ้างนั้นอีก
3.3 ให้การขัดแย้งกันแต่ถือว่าเป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายทางหนึ่งทางใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6629/2539 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยรับโอนการครอบครองมาจาก พ. โดยมีค่าตอบแทน แต่กลับให้การตอนหลังว่า หากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน 1 ปี แล้ว นับแต่จำเลยเข้าครอบครอง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือโจทก์ แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป้นของโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเอาคืนซึ่งครอบครองที่พิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ แล้วศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่ชอบ
3.4 แม้ให้การไว้สองทางแต่ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2539 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้บุกรุกให้ออกจากที่ดินของโจทก์ คำให้การของจำเลยตอนแรกกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่รับรอง จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของจำเลยและได้ครอบครองบ้านกับที่ดินดังกล่าวโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี และไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์หรือเจ้าของเดิมแสดงว่าจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ โดยอาจไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ การที่จำเลยให้การต่อไปว่าหากปรากฏว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์จริง จำเลยก็ได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ก็เป็นการยืนยันถึงเหตุที่ทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่พิพาทจำเลยครอบครองมิได้กล่าวว่าครอบครองปรปักษ์ด้วยการยืนยันว่า ได้กรรมสิทธิ์ด้วยเหตุอื่นมาก่อน อันจะถือว่าขัดแย้งกันแต่อย่างไร คำให้การของจำเลยจึงชัดแจ้งก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่
4. คำให้การที่อ้างถึงคำให้การในคดีก่อนโดยแนบสำเนามาด้วย เป็นคำให้การที่ไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3082/2534 แม้ในคดีก่อนจำเลยจะเคยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยมิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้อง และจำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารพิพาทหรือทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาเช่นเดียวกับคดีนี้ และจำเลยระบุในคำให้การในคดีนี้ว่าขอถือสำเนาคำให้การดังกล่าวเป็นคำให้การต่อสู้ในคดีอื่นไม่ใช่ข้อต่อสู้คดีนี้ ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยคดีนี้ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งในประเด็นที่ยกขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยให้
สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้วินิจฉัยไว้เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6629/2539 กล่าวคือ จำเลยให้การไว้ 2 ทาง คือ เดิมให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย อยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยซื้อมาจาก น. ต่อมาได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเท่ากับจำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยได้รับกรรมสิทธิ์มากจากเจ้าของเดิม แต่จำเลยกลับให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม หากฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนานกว่า 10 ปี แล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ กล่าวคือเดิมจำเลยให้การยืนยันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลย แต่ต่อมากลับให้การว่าแม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ จำเลยก็ครอบครองปรปักษ์แล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นพิพาทในเรื่องการครอบครองปรปักษ์
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้แตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2539 เนื่องจากในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2539 จำเลยให้การว่าได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของจำเลยและได้ครอบครองบ้านกับที่ดินดังกล่าวโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี โดยไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์หรือเจ้าของเดิม แสดงว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของไม่ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ การที่จำเลยให้การต่อไปว่าถ้าที่ดินพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์จริงจำเลยก็ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้า ของติดต่อกันมา 10 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ คำให้การในคดีนี้จำเลยมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงแต่แรกว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2539 จึงมิได้ขัดแย้งกัน
ศิริชัย วัฒนโยธิน
อ้างอิง : คำพิพากษาศาลฎีกา เล่มที่ 7, สำนักงานศาลยุติธรรม, พ.ศ.2544
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น