หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย สาระกฎหมายน่ารู้

เบี้ยปรับ ตอนที่ 1 ความหมาย และลักษณะของเบี้ยปรับ

ลักษณะของเบี้ยปรับ
            มาตรา 379 บัญญัติว่า "ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น"
            มาตรา 384 บัญญัติว่า "ถ้าการชำระหนี้ตามที่สัญญาไว้นั้นไม่สมบูรณ์ การที่ตกลงกันด้วยข้อเบี้ยปรับในการไม่ปฏิบัติตามสัญญานั้นก็ย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน แม้ถึงคู่กรณีจะได้รู้ว่าข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์"
            เบี้ยปรับ คือ ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้า โดยลูกหนี้ให้สัญญาว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ให้เจ้าหนี้ริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ กรณีการชำระหนี้เป็นการงดเว้นการอันใดอันหนึ่ง เมื่อลูกหนี้ฝ่าฝืนกระทำเมื่อใด เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับได้นับแต่นั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ตอนท้าย ในการทำสัญญากันนั้น กฎหมายมิได้บังคับว่าคู่สัญญาจะต้องกำหนดเบี้ยปรับไว้ ดังนั้น คู่สัญญาจึงไม่จำเป็นจะต้องตกลงกันกำหนดเบี้ยปรับ ถ้าประสงค์จะให้มีเบี้ยปรับก็ต้องตกลงกำหนดไว้ในสัญญาอันก่อหนี้นั้น หรืออาจทำสัญญาเพิ่มเติมเฉพาะเบี้ยปรับอีกส่วนหนึ่ง ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ให้มีเบี้ยปรับ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ก็ต้องบังคับไปตามบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้อันเป็นหลักทั่วไป

            ข้อตกลงเกี่ยวกับเบี้ยปรับจัดอยู่ในประเภทสัญญาอุปกรณ์ ซึ่งนอกจากจะต้องสมบูรณ์ตามหลักความสมบูรณ์ของตัวเองแล้ว ยังขึ้นแก่ความสมบูรณ์ของสัญญาประธานอันตนเป็นอุปกรณ์นั้นด้วย แต่คู่สัญญาจะต้องตกลงกันกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการไม่ชำระหนี้ โดยอาจตกลงกำหนดไว้ในสัญญาประธานอันก่อนหนี้ หรือโดยทำสัญญาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งต่างหากก็ได้ ข้อตกลงเกี่ยวกับเบี้ยปรับเป็นสัญญาอุปกรณ์ไม่ว่าจะรวมอยู่ในสัญญาประธาน หรือแยกกำหนดไว้ในสัญญาอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้าไม่มีสัญญาประธาน ข้อตกลงเกี่ยวกับเบี้ยปรับอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ก็ย่อมมีไม่ได้ ดังนั้น ถ้าสัญญาประธานไม่สมบูรณ์เพราะเหตุหนึ่งเหตุใด เช่น เป็นโมฆะกรรมหรือโมฆียะกรรมซึ่งถูกบอกล้างตกเป็นโมฆะ สัญญาอุปกรณ์ก็ย่อมจะพลอยไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 384 ทั้งนี้ไม่ว่าคู่กรณีจะรู้หรือไม่รู้ถึงความสมบูรณ์ของสัญญาประธานนั้น    

เบี้ยปรับมีลักษณะสำคัญพอสรุปได้ดังนี้
            1. เบี้ยปรับเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า จะเรียกชื่อว่าเบี้ยปรับ ค่าปรับ ดอกเบี้ย หรืออย่างไรก็ได้ หากมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าย่อมเป็นเบี้ยปรับ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เจ้าหนี้มีสิทธิริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับได้โดยไม่จำต้องนำสืบพิสูจน์ความเสียหาย
            2. เบี้ยปรับซึ่งกำหนดไว้เป็นค่าเสียหายล่วงหน้านั้น ถ้าเป็นเงินที่คู่สัญญาจะต้องตกลงกันกำหนดจำนวน หรือวิธีคำนวณเบี้ยปรับไว้ด้วย แต่ไม่จำเป็นที่คู่สัญญาจะต้องส่งมอบเบี้ยปรับให้ไว้แก่กัน จะส่งมอบหรือไม่ส่งมอบก็ได้
            3. เบี้ยปรับอาจกำหนดเป็นจำนวนเงิน (มาตรา 379) หรือการชำระหนี้อย่างอื่น (มาตรา 382)

            สัญญากำหนดเบี้ยปรับเป็นนิติกรรมที่กฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้โดยเฉพาะ จึงย่อมแล้วแต่สัญญาประธาน ถ้าสัญญาประธานกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญากำหนดเบี้ยปรับอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ก็ต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ สัญญากำหนดเบี้ยปรับก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย จะนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมตัดทอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ถ้าสัญญาประธานเป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบหรือกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างทำของ สัญญากำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งมีการส่งมอบเบี้ยปรับให้ไว้แก่กันย่อมนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันได้ด้วยพยานบุคคล โดยไม่จำต้องมีเอกสารมาแสดง แต่ถ้าไม่มีการส่งมอบเบี้ยปรับให้ไว้แก่กัน การที่จะนำสืบพยานบุคคลว่า มีสัญญาด้วยวาจากำหนดให้ลูกหนี้ใช้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้เป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แตกต่างกับบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้อันเป็นหลักทั่วไป ก็รู้สึกไม่ค่อยจะสนิทใจเหมือนกันเพราะจะเป็นช่องทางให้ปลุกปั้นพยานนำสืบกันได้ตามใจชอบ

เบี้ยปรับมีประโยชน์ดังนี้ คือ
            1. เป็นประกันความรับผิดตามสัญญา เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิริบเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับได้ตามสัญญา โดยไม่จำต้องนำสืบพิสูจน์เรื่องค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการตัดปัญหาความยุ่งยาก
            2. เป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ทุกอย่างไม่เฉพาะแต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เพราะในบางกรณีเจ้าหนี้อาจไม่ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินเลย เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิริบเบี้ยปรับ อันเป็นการลงโทษลูกหนี้ในฐานผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ เช่น ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ซื้อที่ดิน แต่ที่ดินมีราคาเพิ่มสูงขึ้น แม้เจ้าหนี้ไม่ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิริบเบี้ยปรับได้ตามสัญญาเว้นแต่เบี้ยปรับนั้นจะสูงเกินส่วน ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้เป็นจำนวนที่พอสมควร
            3. เป็นการจำกัดความรับผิดของลูกหนี้ โดยคู่สัญญาตกลงกันกำหนดไว้ในสัญญาให้เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงริบเบี้ยปรับเป็นค่าเสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีก

โดย ณัฐพร  นุชประภา
 

อ้างอิง : คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย นิติกรรมและสัญญา , อ.ศักดิ์ สนองชาติ , สำนักพิมพ์นิติบรรณการ , 2536


 

หมายเหตุ: ข้อมูลหรือบทความที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น