- หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย
- Links ศาล
หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย สาระกฎหมายน่ารู้
ใครคือผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
1. ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับประโยชน์หรือได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่
องค์ประกอบของผู้ประกอบการ
1) บุคคล ได้แก่ บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคล
2) ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ
2. ผู้นำเข้า หมายถึง ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงการนำสินค้าที่ต้องเสียอากรขาเข้า หรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยมิใช่เพื่อการส่งออก
3. ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีในกรณีพิเศษ
1) ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ ตัวแทน
2) การขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) ถ้าภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือโอนสิทธิในบริการนั้นไปให้กับบุคคลที่มิใช่องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ ผู้รับโอนสินค้า หรือผู้รับโอนสิทธิในบริการดังกล่าว
3) กรณีสินค้านำเข้าที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้แก่ ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ผู้รับโอนสินค้าถ้ามีการรับโอนสินค้า
4) ในกรณีที่มีการควบเข้ากัน ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ ผู้ที่ควบเข้ากัน และผู้ประกอบการใหม่
5) กรณีโอนกิจการ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ ผู้โอน และผู้รับโอน
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาระภาษี)
1. กรณีขายสินค้า
(1) กรณีการขายสินค้านอกจาก (2) (3) (4) (5) ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่ กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้าให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย ซึ่งได้แก่การกระทำดังต่อไปนี้
- โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
- ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
- ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำดังกล่าวข้างต้นแล้วแต่กรณี
(2) กรณีการขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อ หรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้า ความรับผิดของผู้ขายจะเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาในแต่ละงวด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ซื้อจะได้ชำระราคาให้แล้วหรือไม่ก็ตาม หรือจะได้รับชำระราคาตรงตามกำหนดเวลาหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่จะยกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้นเสีย ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มงวดต่อ ๆ ไปจึงจะไม่เกิดขึ้น (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536) เว้นแต่ ในกรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาในแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นด้วย
- ผู้ขายได้รับชำระราคา หรือ
- ได้ออกใบกำกับภาษีก่อนที่จะถึงกำหนดชำระในแต่ละงวด
ความรับผิดในการเสียภาษีของผู้ขายดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วแต่กรณี
(3) กรณีขายสินค้าโดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ความรับผิดในการเสียภาษีทั้งหมดของผู้ขายจะเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำดังต่อไปนี้ด้วย
- ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
- ตัวแทนได้รับชำระราคาค่าสินค้า
- ตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
- ได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าโดยตัวแทนหรือบุคลอื่น
ทั้งนี้ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำดังกล่าวข้างต้น แล้วแต่กรณี
การตั้งตัวแทนเฉพาะสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าตามวิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (ประกาศกรมสรรพกรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534
(4) การขายสินค้าโดยส่งออก
4.1 การส่งออก นอกจาก 4.2,4.3 ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ ในกรณีไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออกแล้วแต่กรณี ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
4.2 การส่งออกในกรณีนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ( ประกาศอธิบดีกรมสรรพกรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2535 ) ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
4.3 การส่งออกสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าฑัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
(5) การเสียภาษีจากการนำเข้าสินค้า
5.1 การนำเข้าสินค้านอกจาก 5.2 , 5.3 , 5.4 ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีบุคคลค้ำประกันอากรขาเข้า เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า หรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่ออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
5.2 การนำเข้ากรณีนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วนำสินค้าออกจากเขตดังกล่าวโดยมิใช่เพื่อส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยมิใช่เพื่อส่งออก
5.3 การนำเข้ากรณีของตกค้างตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อทางราชการได้ขายทอดตลาดหรือขายด้วยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย หรือค่าพาหนะติดพัน ตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
5.4 การนำเข้าสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่ ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือผู้รับโอนสินค้าถ้ามีการโอนสินค้าดังกล่าว ให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
(6) การขายสินค้า (เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 ) ให้กับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้กับผู้รับโอนซึ่งมิใช่บุคคลดังกล่าวข้างต้นผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
2. กรณีการให้บริการ
(1) การให้บริการนอกจาก (2) , (3) หรือ (4) ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้ชำระค่าบริการเว้นแต่ กรณีที่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระค่าบริการ
- ออกใบกำกับภาษี หรือ
- ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
โดยให้รับผิดตามส่วนของการกระทำดังกล่าวข้างต้น
(2) การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของบริการ เมื่อได้ชำระค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลงให้ถือว่าให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้กระทำดังต่อไปนี้
- ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
- ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
โดยให้รับผิดตามส่วนของการกระทำดังกล่าวข้างต้น
(3) การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรให้ความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วน
(4) การให้บริการ (เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 ) กับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535) และภายหลังได้มีการโอนสิทธิในบริการให้กับผู้รับโอนซึ่งมิใช่บุคคลดังกล่าวข้างต้นผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ
3. ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีพิเศษ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 พ.ศ.2534 ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วย ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี
(1) การขายสินค้าไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ การขายกระแสไฟฟ้า การขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือการขายสินค้าบางชนิดที่ตามลักษณะทำนองเดียวกันหรือขายสินค้าไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด
(2) การขายสินค้าหรือการให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติโดยวิธีการชำระด้วยการหยอดเงิน ใช้เหรียญหรือบัตร หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
(3) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือลักษณะทำนองเดียวกัน
(4) การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) (ก) ได้แก่ สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี (ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2534)
(5) การขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (ง) (จ) (ฉ) (ช)
“ขาย” หมายถึง จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง
- นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าด้วยการใด ๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปเพื่อการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง (ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 1, คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.47/2537, กฎกระทรวง ฉบับที่ 189)
- สินค้าขาดจากรายงานสินค้า และวัตถุดิบ ตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง
- มีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึง สินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าว ของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากัน หรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่ อันได้ควบเข้ากัน หรือผู้รับโอนกิจการ ต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
- กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 188 ได้แก่
1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้สิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่ได้รับแจ้ง คำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
2) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนกระทำผิดบทบัญญัติในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม และอธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น