- หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย
- Links ศาล
หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย สาระกฎหมายน่ารู้
ครอบครองปรปักษ์เป็นอย่างไร
ก่อนอื่นขอแนะนำบรรดาผู้ที่มีทรัพย์สินทั้งหลายรวมถึงบรรดาเศรษฐีที่ร่ำรวยมหาศาลจนไม่รู้ว่าตนเองมีทรัพย์สินอยู่ในที่แห่งใดบ้าง ขอได้โปรดพึงสังวรณ์ หมั่นตรวจตราดูแลสงวนรักษาทรัพย์สินของตนเอง มิฉะนั้นที่ดินหรือทรัพย์สินของท่านก็อาจไม่เหลือเช่นกัน ทั้งนี้เพราะโดยผลของคำในภาษากฎหมายว่า “ครอบครองปรปักษ์”
คำว่า “ครอบครองปรปักษ์” เป็นคำที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายใด ๆ แต่เป็นที่เข้าใจในวงการกฎหมายทั้งยังปรากฏในคำพิพากษาของศาลว่า หมายถึง การเสียสิทธิในทรัพย์สินของตนโดยการถูกผู้อื่นแย่งการครอบครอง หรือในทางหลักทฤษฎีกฎหมายเรียกว่า อายุความได้สิทธิ เป็นการที่บุคลอื่นจะได้สิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเราโดยการครอบครอง เรามาทำความรู้จักหน้าตาของกฎหมายที่ว่านี้กัน คือตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ว่า “บุคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
หลักเกณฑ์แห่งการครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ มีหลักเกณฑ์ 6 ประการดังนี้
1. ครอบครอง หมายถึง กริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน เช่นเข้าทำประโยชน์ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในเรือกสวนไร่นา ถือว่าได้ครอบครองเรือกสวนไร่นาแล้วนั้น เป็นต้น
2.ทรัพย์สินของผู้อื่น หมายถึง ทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่และในกรณีที่ดินจะต้องเป็นที่ดินมีโฉนดหรือตราจองเท่านั้น
3. โดยสงบ คือ การครอบครองโดยปราศจากการข่มขู่ การใช้กำลัง การหลอกลวงและไม่มีใครหวงห้าม กีดกัน แสดงความเป็นเจ้าของ หรือฟ้องร้องขับไล่
4. โดยเปิดเผย คือ การครอบครองโดยไม่ได้หลบซ่อนเร้น ปิดบัง หรืออำพรางใด ๆ
5. ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ คือ การครอบครองโดยเจตนาตั้งใจที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่การครอบครองแทนผู้อื่น เช่น คนสวนเฝ้าสวนแทนเจ้าของสวน หรือครอบครองตามสัญญาที่ให้อำนาจไว้ เช่น การครอบครองที่นา ทำนาตามสัญญาเช่านา เป็นต้น
6. ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี หรือสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันห้าปี ความหมายอสังหาริมทรัพย์โดยทั่ว ๆ ไป หมายถึง ที่ดินรวมทั้งทรัพย์สินที่ติดกับที่ดิน เช่น ตึกรามบ้านช่อง อาคารถาวรวัตถุ เป็นต้น สังหาริมทรัพย์ก็คือ ทรัพย์ที่ขนเคลื่อนที่ได้นั้นเอง
หลักเกณฑ์ 6 ประการข้างต้นข้อที่ควรจดจำเป็นพิเศษ คือ ต้องเป็นทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์อยู่ และถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันนานถึง 10 ปี กรณีที่ดินมีหลักฐานต่อไปนี้ถือว่ามีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้นไม่ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ซึ่งรู้จักหรือโดยเรียกกันทั่วไปว่า “ที่ดินมือเปล่า” คือ
1. น.ส. 3 เรียกย่อจากคำว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เป็นแบบเก่า
2. น.ส. 3 ก. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ออกโดยใช้การถ่ายรูปทางอากาศ
3. น.ส. 2 ใบจอง เป็นหนังสือที่รัฐอนุญาตให้ครอบครองที่ดินชั่วคราว
4. น.ส. 5 ใบไต่สวน เป็นหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อการจะออกโฉนดที่ดิน
5. ใบนำ เป็นหนังสือที่ออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดิน นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน
6. ส.ค. 1 เป็นหนังสือแจ้งการครอบครอง
7. สทก. 1 เป็นหนังสืออนุญาตให้ได้การผ่อนผัน ให้มีสิทธิทำกินชั่วคราว ในเขตป่าสงวน แห่งชาติ ซึ่งผู้ได้รับการผ่อนผันให้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำกินชั่วคราวมีเงื่อนไขว่า จะแบ่งแยก หรือโอนสิทธิ หรือให้เช่าช่วงทำกินไปยังบุคคลอื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก แก่ทายาทโดยธรรม
8. ที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง แม้ไม่มีหนังสือใด ๆ แสดงสิทธิเลย
ที่ดินตามที่กล่าวมาข้างต้น การถูกผู้อื่นแย่งการครอบครองไม่ใช้อายุความ 10 ปี
ตามมาตรา 1382 แต่จะอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 1376 “ ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”
เมื่อได้เห็นบทบัญญัติของกฎหมายนี้แล้ว บรรดาเจ้าของที่ดินมือเปล่าจะต้องขยันมากกว่าเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ คือ ต้องเอาใจใส่หมั่นดูแลที่ดินของตนอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะหากมีผู้อื่นเข้ามาแย่งการครอบครองบุกรุกเข้ามาจะได้ทักท้วงหวงห้ามปกป้องสิทธิของตนไว้ก่อนเพราะที่ดินมือเปล่าเพียงผู้อื่นเข้ามาครอบครองที่ดินของเราเพียงแค่ 1 ปี ก็ได้สิทธิครอบครองแล้วหากเกิน 1 ปี แล้วจะไปฟ้องศาล ศาลก็ต้องยกฟ้อง ทั้งนี้เนื่องจากการฟ้องเพื่อเอาคืนต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองที่สำคัญคือ ไม่ใช่นับแต่เวลาที่เจ้าของที่ดินรู้นะครับจะบอกให้
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น