- หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย
- Links ศาล
หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย สาระกฎหมายน่ารู้
คดีแพ่งที่เกี่ยวกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
คดีแพ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินฯ ตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ พ.ศ.2539 ได้แก่ คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า
นอกจากจะหมายถึงการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 7 (1) และ (4) แล้ว ยังหมายถึงคดีดังต่อไปนี้ด้วย
1. คดีละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้า (พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44) ได้แก่
ก. ใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น
ข.ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ค. เจ้าของเครื่องหมายการค้าฟ้องบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น มาตรา 46 วรรค 2
2. คดีอื่น ๆ
ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำสั่ง หรือ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
ข. ฟ้องขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย มาตรา 67
ค. การอนุญาตให้ใช้และการโอนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว มาตรา 49, มาตรา 68
คดีแพ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์
นอกจากจะหมายถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 7 (1) แล้ว ยังหมายถึงคดีแพ่งที่พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่อื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 อีกด้วย เช่น
1. การโอนลิขสิทธิ์ไม่ว่าทางนิติกรรมหรือมรดก มาตรา 17
2. การอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ มาตรา 15
3. การฟ้องเพื่อขอให้คุ้มครองกรรมสิทธิ์ มาตรา 18
4. การบังคับใช้ลิขสิทธิ์ในพฤติการณ์พิเศษ มาตรา 54 , มาตรา 55
คดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิบัตร
นอกจากจะหมายถึง การฝ่าฝืนสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา 7 (1) แล้ว ยังหมายถึงคดีแพ่งที่พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่อื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 อีกด้วยเช่น
1. ฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร ตัวสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตร
2. การโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร รวมทั้งการโอนตัวสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร มาตรา 10 , มาตรา 38 , มาตรา 41
3. การฟ้องขอให้แสดงว่าสิทธิขอรับสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ตกได้แก่ลูกจ้าง หรือผู้รับจ้างตามสัญญาจ้าง มาตรา 11
4. การฟ้องขอรับบำเหน็จพิเศษจากนายจ้าง หรือผู้ว่าจ้างนอกเหนือจากค่าจ้างตามปกติ มาตรา 12 , มาตรา 13
5. การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ฝ่าฝืนสิทธิในการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนมีการออกสิทธิบัตร มาตรา 35 ทวิ
6. การอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิตามสิทธิบัตร มาตรา 38 , มาตรา 41
7. การชำระค่าธรรมเนียมรายปี มาตรา 43 , มาตรา 44
8. การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร มาตรา 45 ถึง มาตรา 52
คดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี
ปัจจุบันแม้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเฉพาะ สัญญาประเภทนี้ซึ่งทำขึ้นโดยไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องย่อมใช้บังคับได้และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินฯ
สัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีอาจครอบคลุมสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ , สิทธิบัตร , เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า รวมทั้งการทำสัญญาให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค หรือเคล็ดลับในการผลิตสินค้า และสัญญาให้บริการ
คดีพิพาทตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
อันที่จริงสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีบัญญัติอยู่ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 3 ฉบับ คือ ลิขสิทธิ์ , สิทธิบัตร , เครื่องหมายการค้า อยู่แล้ว และอาจรวมอยู่ในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่กฎหมายยังคงบัญญัติคดีพิพาทตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิลงในความตอนท้ายของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 7 (3) จึงน่าจะมีเจตนารมณ์ที่จะให้ “สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ” มีความหมายกว้างกว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง 3 ฉบับ กล่าวคือในกรณีที่เป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้บัญญัติไว้ เช่น หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ก็ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 68 วรรค 2 สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว หากทำถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย นิติกรรมและสัญญาแล้ว ก็ใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินฯ
อย่างไรก็ตาม สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามความในตอนท้ายของมาตรา 7 (3) นี้ น่าจะต้องเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้าอยู่ด้วย เช่น อนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้า และเครื่องผลิตน้ำแข็ง ที่ตนประดิษฐ์คิดค้นขึ้น แต่ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และไม่ได้ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องผลิตน้ำแข็งไว้ในประเทศไทยหรือสัญญาแฟรนไชส์ ที่มีความหมายอย่างกว้างหมายถึง สัญญาที่ผู้รับอนุญาตรับจะดำเนินธุรกิจหรือขายสินค้าหรือบริการภายใต้วิธีการและกระบวนการของผู้อนุญาต และผู้อนุญาตรับจะช่วยเหลือผู้รับอนุญาตผ่านทางการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขาย และบริการคำแนะนำอื่น ๆ รวมทั้งการตกแต่งร้านค้า การจัดชั้นวางสินค้า และจัดหาแหล่งสินค้ามาป้อนร้านค้านั้น หากเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ , สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้าเลย เช่น สัญญาอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ น่าจะไม่อยู่ในความหมายของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามความในตอนท้ายของ มาตรา 7 (3) นี้
คดีที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินทางปัญญา (ข้อกำหนดฯ ข้อ 16 , 17)
ในคดีการค้าระหว่างประเทศนั้น กฎหมายบัญญัติให้นิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ และการประกันภัย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามความในตอนท้ายของมาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ พ.ศ.2539 ด้วย แต่ในคดีทรัพย์สินทางปัญญานั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ในทำนองนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่โจทก์ หรือว่าที่โจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย หรือว่าที่จำเลยอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิฟ้องของโจทก์ หรือร้องขอให้ใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้องของว่าที่โจทก์ กล่าวคือ นัยหนึ่งก็คือเป็นคดีละเมิดเกี่ยวกับการใช้สิทธินั่นเอง จึงมีปัญหาว่า คดีประเภทนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินฯ หรือไม่ หากถือว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินฯ คู่ความก็ต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลแพ่ง หรือศาลที่มีเขตอำนาจตามปกติ จะฟ้องต่อศาลในคดีเดิมคือศาลทรัพย์สินฯ ไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้ ก็คงจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่จะต้องไปฟ้องต่อศาลอื่นซึ่งไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีตั้งแต่ต้นอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเหตุนี้ ในการยกร่างข้อกำหนดคดีทรัพย์สินฯ จึงได้กำหนดให้ว่าที่จำเลยที่ถูกว่าที่โจทก์ร้องขอให้ใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้อง สามารถยื่นคำขอเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะเหตุที่ศาลออกคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้อง โดยมีความเห็นหลงไปตามคำขอ หรือโดยความประมาทเลินเล่อของว่าที่โจทก์ โดยสามารถยื่นคำขอต่อศาลในคดีเดิมคือศาลทรัพย์สินฯ ได้ ตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินฯ ข้อ 16 วรรค 2 และข้อ 17 วรรค 2 ปัญหาข้อนี้จึงยุติลง ปัจจุบันประธานศาลฎีกาก็ได้มีคำวินิจฉัยที่ ทก. 41/2542 ว่า ผู้ถูกกักเรือตามคำสั่งศาล สามารถฟ้องต่อศาลทรัพย์สินฯ เพื่อเรียกค่าเสียหายได้ จากผู้ขอให้กักเรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ถือได้ว่าเป็นข้อโต้แย้งสิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับการกักเรือ ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (7)
อ้างอิง : กฎหมายศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ, วัส ติงสมิตร, พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม พ.ศ.2544,
สำนักพิมพ์นิติธรรม
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น