หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย สาระกฎหมายน่ารู้

การให้ตามกฎหมาย มีขอบเขตอย่างไร ?

บทนำ

     การให้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   แตกต่างจากการให้ตามที่ชาวบ้านเข้าใจกัน   เนื่องจากชาวบ้านเข้าใจว่า  เมื่อผู้ให้ออกปากรับคำว่าให้ทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ถือว่า  การให้เป็นอันสมบูรณ์  หากผู้ให้บิดพลิ้วภายหลังถือว่า   ผู้ให้ผิดสัญญาและจะนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาล

     แต่ความจริงตามกฎหมายแล้ว  ความเข้าใจดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนแตกต่าง   ความสมบูรณ์ของการให้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้มาก   เพราะการให้ตามกฎหมายที่จะสมบูรณ์ใช้บังคับระหว่างผู้ให้กับผู้รับได้นั้นมีองค์ประกอบตามกฎหมายหลายประการ  และมีเงื่อนไขต่าง ๆ อันจะถือว่าเป็นการให้ที่สมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมายนั้นอยู่

     บทความนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องของการให้ตามความหมายที่ถูกต้องของกฎหมาย  โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์     และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนนักศึกษาและนักกฎหมายทุกท่าน


บทที่ 1.  สัญญาให้คืออะไร ?

     สัญญาให้   ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ 3   เอกเทศสัญญา ลักษณะ 3   ตาม มาตรา  521-536  รวม  16  มาตรา   สามารถแบ่งเป็นหัวข้อเพื่อทำความเข้าใจในเรื่อง “การให้” ได้ดังนี้.-

1. ความสมบูรณ์ของสัญญาให้
2. สัญญาว่าจะให้
3. การให้ทรัพย์สินซึ่งมีค่าภารติดพัน
4 .การถอนคืนการให้
5. การให้ที่จะเป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตาย

     ซึ่งจะได้อธิบายตามแนวดังกล่าวเป็นลำดับได้   แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเรื่องความหมายของสัญญาให้เสียก่อนว่ามีความหมายและ

     ขอบเขตเพียงใด  ** สัญญาให้   คือ   สัญญาสองฝ่าย  มีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับ  และทั้งสองฝ่ายดังกล่าวต่างแสดงเจตนาให้มีการโอนและ   การรับโอนทรัพย์อันเป็นวัตถุของสัญญาให้ด้วย

     ด้วยเหตุนี้   สัญญาให้จึงมีหลักเกณฑ์ความสำคัญในเรื่องการตกลงของเจตนาที่ผู้ให้ยอมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแก่ผู้รับโดยมิได้รับค่าตอบแทน  และผู้รับก็ยอมรับเอาทรัพย์สินที่ให้นั้น   ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา   521 ว่า  “ อันว่าให้  นั้นคือ   สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้   โอนทรัพย์สินของตนโดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า  ผู้รับ   และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น ”                                                                               

อ้างอิง  :  คดีฟ้องขับไล่ ,สุพิศ   ปราณีติพลกรัง , 10 ธันวาคม 2534 , บริษัท กรุงสยาม  พริ้นติ้ง  กรุ๊พ จำกัด .

 

หมายเหตุ: ข้อมูลหรือบทความที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น