หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย บทความ

มรดกมีแต่ได้ จริงหรือ

 
มรดกมีแต่ได้ จริงหรือ ?
              มรดก  คำสั้น ๆ  ที่ใครๆ  ก็อยากได้รับ  โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน  อันเป็นยุคเศรษฐกิจบีบรัดตัว  หลายคนฝันอยากจะได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ  เพื่อช่วยเหลือค้ำจุนฐานะทางเศรษฐกิจของตนและครอบครัว  หรือ  เพิ่มพูนทรัพย์สินเงินทองของตนให้มั่งคั่งขึ้นไปอีก  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา  ที่ใครๆ  ก็อยากสะสมทรัพย์สินสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้มั่งคั่งในสังคมวัตถุนิยมเช่นทุกวันนี้  ที่ดูเหมือนว่าฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละคนจะมีความสำคัญ  และเป็นตัวกำหนดฐานะ  ชนชั้น  และความมีหน้ามีตาในสังคม  บางคนอาจโชคดี  เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทองรอจะตกทอดเป็นมรดกให้อยู่แล้ว  แต่บางคนอาจต้องรอให้มีญาติที่ไม่รู้จัก  มาตามหาทายาทที่สูญหายของเจ้าคุณปู่ก็ว่ากันไป  
                มรดก  คืออะไร  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1600  กองมรดกของผู้ตาย  ได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย  ตลอดทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่างๆ  เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้   ซึ่งหมายความว่า  มรดกมีทั้ง  ทรัพย์สิน   สิทธิ  หน้าที่   และความรับผิดต่างๆ    ของผู้ตายด้วย  ถ้าหากคุณเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของใคร  ก็อย่าเพิ่งดีใจเกินไปนัก  เพราะนอกจากทรัพย์สินแล้ว  คุณยังต้องยอมรับ  สิทธิ  หน้าที่  และความรับผิดต่างๆ  ของผู้ตายมาด้วย 
                สำหรับมรดกที่เป็นทรัพย์สินนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หมายถึง  วัตถุมีรูปร่าง  หรือไม่มีรูปร่าง  ซึ่งอาจมีราคา  และอาจถือเอาได้  เช่น  บ้าน, ที่ดิน,  รถยนต์  เป็นต้น  วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง  เช่น  เครื่องหมายการค้า,  ลิขสิทธิ์ ,  แก๊ส  เป็นต้น  สำหรับสิทธิ  หน้าที่  และความรับผิดของผู้ตายที่เป็นมรดกให้ผู้มีสิทธิรับมรดกรับช่วงต่อไป กล่าวคือ  สิทธิ ที่มีต่อผู้อื่นอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย  สิทธิดังกล่าวอาจเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้กู้ยืม  สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  สิทธิในการดำเนินคดีอาญา  สิทธิในการถอนการแจ้งความร้องทุกข์  เป็นต้น  สำหรับหน้าที่และความรับผิดของผู้ตายนั้น  ส่วนมากจะเป็นความรับผิดในเรื่องหนี้สิน  เช่น  ผู้ตายไปกู้ยืมเงินมาและได้ถึงแก่ความตายก่อนครบกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้  หน้าที่ในการชำระหนี้ดังกล่าว  จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ผู้มีสิทธิได้รับมรดก  หรือ  หากผู้ตายมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนให้แก่คูสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามสัญญาซื้อขาย  และได้ถึงแก่ความตาย  ก่อนที่จะได้มีการชำระหนี้ดังกล่าว  หน้าที่ในการชำระหนี้ดังกล่าวก็ตกทอดเป็นมรดก  สำหรับความรับผิดของผู้ตาย  เช่น   ถ้าผู้ตายทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้  และมีการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้  ก่อนที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย  ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน  ย่อมตกเป็นมรดกแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยเช่นเดียวกัน       จะเห็นได้ว่ากฎหมายต้องการให้ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย  รับภาระต่างๆ  ของผู้ตายไปด้วยไม่ใช่จะรับไปแต่ทรัพย์สินของผู้ตายเพียงอย่างเดียว  แต่มีข้อยกเว้นว่า  สิทธิ  หน้าที่  ความรับผิดของผู้ตาย  ที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้นั้น  ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท  เช่น  สิทธิในการเช่า  เมื่อผู้ให้เช่าถึงแก่ความตาย  ทรัพย์สินทีให้เช่าตกเป็นมรดกแก่ผู้มีสิทธิรับมรดก  แต่ผู้มีสิทธิรับมรดกจะต้องรับไปทั้งตัวทรัพย์  และหน้าที่ของผู้ให้เช่า  แต่หากผู้เช่าถึงแก่ความตาย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง  เพราะสัญญาเช่าเป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสำคัญ  อันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า  สิทธิตามสัญญาเช่าของผู้เช่าจึงเป็นการเฉพาะตัวของผู้เช่าของโดยแท้  และไม่ตกทอดเป็นมรดก  แต่ถ้าเป็นกรณี สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษ  นอกเหนือจากสัญญาเช่าธรรมดา  หากผู้เช่าถึงแก่ความตาย  สิทธิในการเช่าเป็นมรดกโอนไปสู่ผู้มีสิทธิรับมรดก  เนื่องจากสัญญาเช่าดังกล่าวผู้เช่าได้ให้ค่าตอบแทนอย่างสูงแก่ผู้ให้เช่า  เช่น  สัญญาเช่าที่ดินมีกำหนด  15  ปี  โดยมีข้อตกลงว่า  ผู้เช่าสร้างอาคารลงในที่ดิน  และให้อาคารตกเป็นของผู้ให้เช่า  เป็นต้น  สำหรับกรณีการเช่าที่ผู้ให้เช่าเก็บเงินกินเปล่า  หรือแป๊ะเจี๊ย  และยอมให้ผู้เช่าอยู่มีกำหนดเกิน  3  ปี  จะจดทะเบียนการเช่าหรือไม่ก็ตาม  ทายาทของผู้เช่า  ไม่อาจบังคับผู้ให้เช่าให้ทายาทของผู้เช่า   เช่าทรัพย์นั้นต่อไปได้  แต่ถ้าสิทธิในการเช่านั้นมีราคาและอาจถือเอาได้  ก็เป็นทรัพย์สิน  และเป็นมรดกที่ผู้มีสิทธิรับมรดกจะแบ่งปันกันได้ตามกฎหมาย  การแบ่งนั้นอาจตีราคาแล้วแบ่งกันเป็นตัวเงินก็ได้
                 ตามที่กล่าวข้างต้น  จะเห็นว่า  มรดกของผู้ตายนั้นมีหลายประเภท  และกองมรดกของผู้ตายนั้นอาจถูกบังคับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ของผู้ตายได้เช่นกัน  แต่มีทรัพย์สินหรือสิ่งตอบแทนบางอย่างที่ไม่เป็นมรดก  และไม่อยู่ภายในบังคับของการบังคับชำระหนี้  อาทิเช่น  เงินทดแทน,  หรือเงินบำเหน็จของทางราชการ  ที่นายจ้าง  หรือราชการจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ  ตามที่กฎหมายกำหนด   เมื่อลูกจ้างหรือข้าราชการถึงแก่ความตาย  ซึ่งเงินดังกล่าวลูกจ้างหรือข้าราชการไม่มีสิทธิเรียกร้องขณะมีชีวิตอยู่    หรือเงินที่ผู้รับประกันภัยใช้ให้แก่ผู้รับประโยชน์โดยเฉพาะเจาะจงตามสัญญาประกันภัย  ไม่เป็นมรดกของผู้เอาประกันภัย  แต่เบี้ยประกันที่ส่งไปแล้วเป็นมรดก  หากผู้เอาประกันภัยระบุให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยไม่ระบุเฉพาะเจาะจง  เงินที่ผู้รับประกันภัยใช้ให้นั้นเป็นทรัพย์มรดกเจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากเงินนั้นได้  
                 สำหรับผู้มีสิทธิรับมรดกทั้งหลาย  ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก  และต้องรับมาทั้ง  ทรัพย์สิน  สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ตาย  แต่ทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน  ดังนั้น  หากผู้ตายมีหนี้สินมากมาย  ผู้รับมรดก  ก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนทรัพย์ที่ตนได้รับมาแต่อย่างใด  เช่น  ผู้ตายมีมรดก  หนึ่งล้านบาท  แต่มีหนี้สิน  หนึ่งล้านห้าแสนบาท  ทายาทผู้รับมรดกก็รับผิดในหนีสินของผู้ตายเพียงหนึ่งล้านบาทเท่านั้น  เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เกินจำนวนทรัพย์มรดกไม่ได้
                 ผู้มีสิทธิรับมรดกนั้นมี  2  ประเภท  ได้แก่  ทายาทโดยธรรม  และผู้รับพินัยกรรม  ทายาทโดยธรรมนั้นมี  6  ลำดับ  ได้แก่ (1)  ผู้สืบสันดาน  (2)  บิดามารดา  (3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  (4)  พี่น้องร่วมบิดาหรืมารดาเดียวกัน  (5)  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  (6)  ลุง  ป้า  น้า  อา  ส่วนผู้รับพินัยกรรมนั้น  จะมีกี่คนขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม  การแบ่งมรดกนั้นทายาทในลำดับเดียวกันมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ส่วนผู้มีสิทธิตามพินัยกรรมก็จะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามที่พินัยกรรมกำหนด  หากมีความขัดแย้งกันในเรื่องมรดก  จะต้องฟ้องคดีภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  หรือนับแต่วันที่ทายาทได้รู้  หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก  สำหรับกรณีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่มีผู้รับมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่มีการตั้งมูลนิธิ  หากมีมรดกของบุคคลนั้นเหลือจากการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้  มรดกนั้นตกทอดแก่แผ่นดินตามกฎหมาย
                 หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีสิทธิได้รับมรดกไม่ว่าจะมากหรือน้อย  ก็ควรถือว่าเป็นวาสนาอันดีของตนเอง  แต่ก็ควรดีใจแต่พอประมาณ  อย่าให้ออกนอกหน้ามากเกินไปจะเป็นดี  เพราะอาจเป็นที่หมั่นไส้ของทายาทคนอื่นๆ เอาได้  และควรแสดงน้ำใจ  เผื่อแผ่ให้แก่ทายาทคนอื่นๆ บ้าง  แต่ถ้าคุณเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับมรดก  หรือเป็นผู้ได้รับมรดกแต่เป็นจำนวนน้อยกว่าที่คาดไว้  ก็ควรทำใจให้สบาย  เพราะมรดกเป็นทรัพย์สินที่ตกทอดมา  คุณไม่ได้สร้าง  หรือหามาด้วยความยากลำบากของตนเองควรพอใจ  และยินดีกับสิ่งที่ได้รับ  ทรัพย์สินต่างๆ  ล้วนเป็นของนอกกาย  แม้ตัวเจ้ามรดกเองเมื่อเขาจากไปยังเอาทรัพย์สินที่เคยเป็นของตนเองไปด้วยไม่ได้  ต้องทิ้งไว้ให้คนข้างหลัง  เราในฐานะคนอยู่ข้างหลัง  มีโอกาสได้เห็นความจริงของเขาเป็นตัวอย่างแล้ว  ก็ไม่ควรปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำ  จนถึงขั้นแก่งแย่งขัดแย้งกันในครอบครัวเพียงเพราะมรดก  ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญเพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด  คุณอาจใช้เงินในกระเป๋าหมดไปหลายรอบจนนับไม่ถ้วน  แต่ความเป็นครอบครัว  พี่น้อง  พ่อแม่  ความสัมพันธ์แบบนี้จะอยู่กับคุณตลอดไป 
                                   
                                                                                                                
    By  กลมบดินทร์

หมายเหตุ: ข้อมูลหรือบทความที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น