หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย ข้อมูลวิชาการ

การคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารทางไปรษณีย์เมื่อแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทย

รายงานวิชาการ 

เรื่อง การคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารทางไปรษณีย์เมื่อแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทย

บทนำ
     “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสาร ที่บุคคลมีถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใด เพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อกัน จะกระทำมิได ้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” 

     ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๗ เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันในทางที่ชอบด้วยกฎหมาย 

     การสื่อสารทางไปรษณีย์ในปัจจุบันของประเทศไทย เป็นบริการสาธารณูปการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ หน่วยงานของรัฐที่ให้บริการดังกล่าวคือการสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม การสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ มีวัตถุประสงค์ “เพื่อดำเนินการ และนำมาซึ่งความเจริญของกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคม………” 

     ด้วยเหตุที่บริการไปรษณีย์เป็นกิจการที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ให้บริการ การดำเนินงานของหน่วยงาน และการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่จึงอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าข้อมูลข่าวสาร ที่สื่อสารถึง กันย่อม ได้รับความคุ้มครอง การกระทำเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความย่อมไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย เพราะมีบทบัญญัติของกฎหมาย คุ้มครองอย่างเคร่งครัดนอกจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแล้วในกฎหมายเฉพาะเช่น พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. ๒๔๗๗หรือประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดโทษในกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติในลักษณะ ที่จะล่วงละเมิดหรือลิดรอนเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันของบุคคลไว้

      ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมใช้ในระบบโทรคมนาคม บริการโทรคมนาคมที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐก็ได้พยายามที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหาร ประสิทธิภาพการให้บริการ แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ รัฐบาลที่ผ่านมา ได้มีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(Privatization) กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นไปตามพันธะที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกรอบ และกฎเกณฑ์ที่ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก(World Trade Organization)จะต้องปฏิบัติ โดยประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาที่จะเปิดตลาด(Market Access)และให้การปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ( National Treatment) ในสาขาบริการโทรคมนาคมเสริม (Value-added Service) 

     สำหรับโทรคมนาคมพื้นฐานประเทศไทยได้เสนอในตารางข้อผูกพันที่จะเปิดเสรีในบริการขั้นพื้นฐานโทรศัพท์ โทรพิมพ์ โทรเลขและโทรสารซึ่งรวมไปถึงบริการโทรคมนาคมท้องถิ่นทางไกลภายในประเทศและบริการระหว่างประเทศโดยกำหนด จะเปิดเสรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙(ค.ศ. 2006) จากข้อผูกพันต่อองค์การการค้าโลก และแผนพัฒนากิจการโทรคมนาคม จะนำไปสู่การยกเลิกการผูกขาดของรัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้ง ๒ แห่ง ในสังกัดกระทรวงคมนาคมคือ 

     การสื่อสารแห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องแปรรูปตามแผนแม่บทดังกล่าว ในการแปรรูปการสื่อสารแห่งประเทศไทยจึงต้องแยกกิจการไปรษณีย์ออกจากกิจการโทรคมนาคม 

     การแปรรูปในขั้นแรกจะเป็นการแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทยโดยแยกกิจการไปรษณีย์ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัท จำกัด มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้บริการสื่อสารทางไปรษณีย์เช่นเดิม การแปลงสภาพดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่ให้ บริการสื่อสาร-ไปรษณีย์เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิใช่เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น ตาม พระราชบัญญัติอีกต่อไป ซึ่งเมื่อสถานะของผู้ให้บริการเปลี่ยนไปมีประเด็นทางกฎหมายที่ควรพิจารณาว่าการคุ้มครองเสรีภาพการ สื่อสารทางไปรษณีย์ต่อไปจะเป็นเช่นไร จะมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการหรือต่อผู้ให้การอย่างไรบ้าง

สนใจ Download ฟรี

โดยคุณสุรศักดิ์ จินดาพันธ์
สำนักงานการสื่อสารไปรษณีย์นครหลวงเหนือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ: ข้อมูลหรือบทความที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น